น้ำมันหลุดไปในไลน์การผลิต? ทางออกง่ายๆ ก่อนจะสายเกินแก้

by Admin

น้ำมันหลุดไปในไลน์การผลิต? ทางออกง่ายๆ ก่อนจะสายเกินแก้

by Admin

by Admin

 

น้ำมันหลุดไปในไลน์การผลิต? ทางออกง่ายๆ ก่อนจะสายเกินแก้

คุณเคยประสบปัญหาผลิตภัณฑ์ของคุณเปลี่ยนสีจากที่ควรจะเป็นไหม เช่นผลิตภัณฑ์ถุงมือยางทางการแพทย์ที่ควรจะมีสีขาวดูสะอาดตา แต่กลับได้ผลลัพธ์การผลิตเป็นถุงมือยางสีขุ่นเหลืองแทน เคยเจอไหมว่าเมื่อพ่นสีล้อแม็กซ์ หรือชิ้นส่วนรถยนต์แล้ว ผิวของชั้นสีกลับมีความตะปุ่มตะป่ำ ไม่เรียบอย่างที่ต้องการ หรือกับบางรายที่ผลิตปลอกยาแคปซูลขายและดูสวยงามภายนอก แต่เมื่อทานเข้าไปแล้วกลับได้กลิ่นน้ำมันอ่อนๆ ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของปัญหามากมายที่สามารถเกิดขึ้นได้หากมีน้ำมันหลุดเข้าไปในไลน์การผลิตจนเกิดการปนเปื้อนกับผลิตภัณฑ์ของคุณขึ้นนั่นเอง

อุตสาหกรรมเฉพาะทางหลายๆ อุตสาหกรรม เช่นอุตสาหกรรมในกลุ่มอาหาร ยา เวชสำอาง กลุ่มผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ รวมกลุ่มไปจนถึงกลุ่มอุตาหกรรมยานยนต์นั้น ความสะอาดของลมอัดที่ใช้ในไลน์การผลิต ถือเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นที่ต้องให้ความสนใจ เพราะนอกจากจะมีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์โดยตรง อันส่งผลต่อการควบคุมคุณภาพสินค้าแล้ว นี่ยังถือเป็นภัยร้ายแรงที่อาจที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคและทำให้โรงงานต้องถูกตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐเช่นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. รวมไปจนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขอรับรองมาตรฐานการผลิตอย่าง GMP หรือ HACCP อีกด้วย

แต่การที่เราจะสามารถแก้ปัญหาน้ำมันหลุดไปกับไลน์ผลิตจนไปปนเปื้อนกับผลิตภัณฑ์ได้นั้น ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจก่อนว่าสาเหตุที่น้ำมันหลุดไปกับไลน์การผลิตได้นั้นอาจเป็นเพราะสาเหตุใดบ้าง

จุดเริ่มต้นของปัญหา…กับสาเหตุหลักที่ทำให้น้ำมันหลุดไปกับลมอัด และแนวทางการป้องกัน

การที่น้ำมันจะหลุดเข้าไปกับไลน์การผลิตได้นั้น สาเหตุหลักๆ มักมาจากระบบต้นกำลังลมอัดเป็นสำคัญ โดยเราจะต้องโฟกัสไปที่ชนิดของเครื่องอัดอากาศที่ใช้อยู่ในไลน์การผลิต รวมไปจนถึงการบำบัดลมอัดที่ออกมาจากต้นกำลังให้ผ่านกรรมวิธีที่ถูกต้องและครบถ้วนนั่นเอง โดยในบทความนี้เราจะมาแจกแจงสาเหตุของปัญหาให้เข้าใจกันได้โดยง่ายเป็นข้อๆ พร้อมแนวทางการป้องกันปัญหา เอาล่ะ…เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า

ระบบต้นกำลังลมอัด (Compressed Air Generation System)

 เครื่องอัดอากาศหลักๆ ที่เรารู้จักกันนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทสำคัญ ซึ่งคือเครื่องอัดอากาศแบบ“ใช้น้ำมัน” และแบบ “ปราศจากน้ำมัน” นั่นเอง

ต้องเข้าใจก่อนว่าเครื่องอัดอากาศที่ใช้น้ำมัน หรือที่เราเรียกว่า Oil Flooded Air compressor (หรือบางครั้งก็มีการบิดคำให้ดูสวยขึ้นว่า Oil-less Air Compressor) นั้น ไม่ว่าจะเป็นชนิดลูกสูบ (Piston / Reciprocating Compressor) ชนิดสกรู (Screw Air Compressor) ชนิดสโครล (Scroll Air Compressor) หรือชนิดใดๆ ก็ตามที่ยังต้องมีการใช้น้ำมันในระบบนั้น จะไม่มีทางเป็นระบบ Oil Free โดยสมบูรณ์ได้ แต่ทั้งนี้เราสามารถจัดการละอองน้ำมันให้ออกไปจากลมอัดของเราได้มากที่สุดด้วยการใช้ระบบบำบัดลมอัดเข้ามาช่วย โดยที่พบเห็นได้บ่อยนั้นจะเป็นกลุ่มของชุดกรอง (Filter) ที่สามารถช่วยกรองปริมาณน้ำมันออกได้ตามประสิทธิภาพของไส้กรอง โดยที่นิยมใช้กันนั้นจะเป็นใส้กรองชุด 1 Micron และ 0.01 Micron แต่บางไลน์การผลิตที่ค่อนข้างซีเรียสเรื่องสีและกลิ่นของน้ำมันมากก็จะมีการใช้ไส้กรองที่เรียกว่า Activated Carbon Filter มาช่วยในการกรองกลิ่นและสีออกไป ส่วนบริษัทที่ยิ่งจริงจังกับการขจัดน้ำมันออกจากระบบมากขึ้นไปอีก แต่อาจจะยังไม่พร้อมลงทุนกับเครื่องอัดลมแบบปราศจากน้ำมัน หรือ Oil Free Air Compressor แบบ 100% ก็อาจจะมีการประยุกต์ใช้ Activated Carbon Tower ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายๆ ถังเก็บอากาศอัด แต่ภายในบรรจุเม็ดสาร Activated Carbon ซึ่งคำนวนไว้อย่างเหมาะสมกับปริมาณลมอัดที่เครื่องอัดลมผลิตได้ รวมไปจนถึงอุณหภูมิโดยรอบ แรงดัน และอุณหภูมิของลมอัดเอาไว้เพื่อให้สามารถขจัดน้ำมันออกจากระบบได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และอาจทำได้สูงสุดถึง 0.003 – 0.005mg/m3 เลยทีเดียว

และเนื่องจากต้องอาศัยความช่วยเหลือของระบบบำบัดลมอัดมาช่วยขจัดน้ำมันออกไป การเปลี่ยนไส้กรองอากาศหรือเม็ดสาร Activated Carbon จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่สามารถลืมได้ เพราะหากเราไม่เปลี่ยนตามเวลาจนเป็นผลให้น้ำมันหลุดไปกับลมอัดแล้ว การแก้ไขนั้นจะเป็นสิ่งที่ยากมาก เนื่องจากละอองน้ำมันเหล่านั้นจะเข้าไปเกาะฝังตัวอยู่กับผนังท่อและชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ในไลน์การผลิต ทำให้ต้องมีการฟลัชลมสะอาดทิ้งเป็นเวลานานมากกว่าที่ค่าน้ำมันจะลดมาอยู่ในระดับปกติที่เทียบเท่ากับคำว่า “ปราศจากน้ำมัน” อีกครั้ง ซึ่งในหลายๆ ครั้งผู้ผลิตอาจต้องจำใจปล่อยให้เกิดการปนเปื้อนน้ำมันในระบบลมอัดไปเรื่อยๆ เดือนๆ เพื่อรอให้น้ำมันเหล่านั้นหายไป และยังต้องมาพิจารณาถึงการเปลี่ยนอุปกรณ์หลายๆ ตัวที่มีการปนเปื้อนของน้ำมันแล้วเช่น Housing ของตัวฟิลเตอร์ หรือพวกข้อต่อตามท่อลม หรือร้ายไปกว่านั้นอาจต้องถึงขั้นเปลี่ยนท่อส่งลมอัดในไลน์การผลิตใหม่ไปเลย ซึ่งส่งผลให้เกิดดาวน์ไทม์ในการผลิตเป็นระยะเวลานาน สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นเป็นมูลค่ามหาศาล

(สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่เบอร์ 087-675-0631 หรือ 02-159-9861 – 4)

เพราะเหตุนี้หากไม่ต้องการให้เกิดการปนเปื้อนของน้ำมันในระบบอากาศอัดเลย การใช้เครื่องอัดอากาศแบบปราศจากน้ำมัน หรือ Oil Free Air Compressor ควบคู่ไปกับระบบบำบัดลมอัดอย่างฟิลเตอร์ จึงถือเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะทางเหล่านี้ ยิ่งในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีเครื่องอัดอากาศแบบปราศจากน้ำมันที่เรียกว่า Oil Free Water Lubricated Screw Air Compressor ซึ่งเป็นเครื่องอัดอากาศที่ใช้น้ำเข้ามาช่วยในกระบวนการบีบอัด ทำให้ประหยัดทั้งต้นทุนในส่วนของราคาเครื่องและค่าบำรุงรักษาระยะยาวกว่า 50% เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีเก่าอย่าง Oil Free Dry Screw Compressor แล้ว การลงทุนกับระบบอัดอากาศให้เป็นแบบปราศจากน้ำมัน 100% นั้นจึงถือเป็นสิ่งที่สมควรที่สุดแล้วในเวลานี้ เพราะนอกจากการลงทุนจะต่ำลงมาแล้ว ยังปลอดภัย ไร้ปัญหาน้ำมันให้ต้องกังวลในระยะยาวอีกเลยด้วย

สภาพอากาศในบริเวณที่ติดตั้งระบบลมอัด (Ambient Air)

อากาศที่เราหายใจเข้าไปทุกวันนั้นมีสิ่งปนเปื้อนอยู่มากมาย ทั้งฝุ่นละออง สารเคมี และละอองน้ำมัน ซึ่งปริมาณของสิ่งปนเปื้อนเหล่านี้ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละหน้างาน ในกรณีของน้ำมันนั้นอาจเป็นไปได้หลายสาเหตุ เช่นในอุตสาหกรรมอาหาร อาจมีการติดตั้งเครื่องอัดอากาศใกล้พื้นที่ที่ใช้สำหรับการทอดอาหาร หรือในอุตสาหกรรมยานยนต์ อาจติดตั้งระบบอัดอากาศในบริเวณใกล้เคียงกับเครื่องจักรอื่นๆ ที่ต้องใช้น้ำมันในระบบการทำงาน สิ่งเหล่านี้ทำให้อากาศบริเวณรอบปนเปื้อนไปด้วยน้ำมัน ส่งผลให้เครื่องอัดลมดูดเอาอากาศที่มีละอองน้ำมันผสมเหล่านี้เข้าไปบีบอัด เกิดเป็นน้ำมันที่ผสมปนมากับลมอัดได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วปัญหานี้จะเกิดขึ้นได้น้อย เนื่องจากปริมาณน้ำมันที่ผสมในลมอัดนั้นมีปริมาณน้อยมาก หากผ่านกระบวนการบำบัดลมอัดอย่างพวกชุดกรองก็จะสามารถกำจัดน้ำมันปนเปื้อนเหล่านี้ออกไปได้โดยง่ายดาย

การเสื่อมสภาพของแมกคานิคอลซีลในห้องเกียร์ (Gear Drive) ของเครื่องอัดลมปราศจากน้ำมันแบบ Dry Screw

แม้ว่าจะมีการเลือกใช้งานเครื่องอัดลมแบบปราศจากน้ำมันอยู่แล้วในไลน์การผลิต แต่เป็นชนิด Dry Screw Air Compressor ผู้ใช้งานก็อาจประสบปัญหาน้ำมันหลุดไปกับลมอัดได้หากแมกคานิคอลซีลในห้องเกียร์ของเครื่องอัดอากาศแบบ Dry Screw เกิดเสื่อมสภาพ ซึ่งข้อเสียของระบบ Dry Screw คือการตรวจสอบว่าซีลในห้องเกียร์เสื่อมสภาพแล้วหรือไม่นั้นทำได้ยาก และไม่ได้มีสัญญาณเตือนให้เห็นชัดก่อนจะเกิดปัญหา ดังนั้นผู้ใช้งานจึงต้องหมั่นดูแลรักษา และเปลี่ยนอะไหล่ต่างๆ ตามรอบการใช้งานอย่างเสมอ ทำให้ต้นทุนการบำรุงรักษาเครื่องอัดลมชนิด Dry Screw นั้นเพิ่มมากขึ้นไปด้วย แต่ก็ต้องทำเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำมันหลุดเข้าไปในไลน์การผลิต ซึ่งถือเป็นภัยร้ายในไลน์การผลิตหากเกิดขึ้นมา

ตรวจสอบคุณภาพลมอัดเป็นประจำ เพื่อการแก้ไขที่รวดเร็วก่อนจะสายเกินไป

การตรวจสอบปริมาณน้ำมันในลมอัดนั้นถือเป็นสิ่งที่ควรทำและบัญญัติไว้ในกระบวนการทางคุณภาพ (Quality Procedure) ของโรงงานเฉพาะทางเหล่านี้ เนื่องจากลมอัดส่งผลโดยตรงกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นหากมีการตรวจเจอปัญหาแต่เนิ่นๆ การจัดการแก้ไขก็จะสามารถทำได้ไม่ยากจนเกินไปนัก

ในปัจจุบันการตรวจสอบปริมาณน้ำมันในระบบลมอัดนั้นสามารถทำได้โดยการใช้เครื่องมือเฉพาะทาง ที่จะทราบผลการปนเปื้อนของน้ำมันในระบบลมอัดได้ในทันทีเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข อีกทั้งรายงานการตรวจวัดเหล่านี้ยังสำคัญในกระบวนการตรวจสอบขององค์กรภาครัฐ และเอกชนที่มีผลต่อการผลิตในอุตสาหกรรมเฉพาะทางเหล่านี้อีกด้วย

นอกจากการตรวจวัดปริมาณน้ำมันปนเปื้อนแล้ว ผู้ใช้งานยังควรที่จะพิจารณาการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละออง และปริมาณน้ำที่ผสมในไปในระบบลมอัดควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าระบบลมอัดสะอาดที่ใช้งานอยู่นั้นยังคงสะอาดและปลอดภัยต่อไลน์การผลิตและผู้บริโภคของเราจริงๆ โดยมาตรฐานและแนวทางการตรวจวัดคุณภาพลมอัดนั้นจะอ้างอิงกับ ISO-8573-1 ซึ่งเป็นข้อกำหนดมาตรฐานการตรวจวัดและการายงานผลที่ใช้กันทั่วโลก หากสนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ISO-8573-1 ที่เราเคยทำบทความเอาไว้ได้

หากเกิดปัญหาน้ำมันหลุดไปแล้ว จะแก้ไขได้อย่างไร

หากเกิดปัญหาขึ้นแล้วก็ไม่ต้องตกใจ ขั้นตอนต่อไปคือการหาทางแก้ไขให้ตรงจุด

  1. หากต้นกำลังยังคงเป็นเครื่องอัดลมแบบ Oil Flood ให้ทำการเปลี่ยนฟิลเตอร์ในระบบทั้งหมด รวมไปจนถึงข้อต่อและวาล์วต่างๆ ในระบบ จากนั้นค่อยๆ ใช้งานลมอัดต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าน้ำมันในระบบจะถูกฟลัชออกไปจนหมด หรือหากทำได้ ให้ยุติการใช้งานระบบชั่วคราวเพื่อทำการฟลัชท่อและพยายามไล่น้ำมันออกจากระบบให้ได้มากที่สุด
  2. หากต้องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า (แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ระยะยาว) อาจพิจารณาเพิ่ม Activated Carbon Tower ไปในไลน์การผลิต โดยเฉพาะกับบริเวณที่ลมอัดต้องสัมผัสกับผลิตภัณฑ์โดยตรง เพื่อให้ Activated Carbon Tower ช่วยจัดการละอองน้ำมันก่อนเข้าไปผสมกับผลิตภัณฑ์ก่อนชั่วคราว โดยวิธีนี้อาจใช้เงินลงทุนต่ำสุด และสามารถแก้ไขได้เร็วที่สุด และก็ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น และอาจพิจารณาทำควบคู่ไปกับวิธีการในข้อที่ 1 ได้ เพื่อให้มีตัวช่วยขจัดน้ำมันออกจากไลน์ในระหว่างที่กำลังไล่น้ำมันออกจากไลน์การผลิต
  3. ในกรณีที่พิจารณาแล้วว่ามีน้ำมันเกาะตามผิวท่อและข้อต่อมากจนการฟลัชชิ่งท่อไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้แล้ว พิจารณาเปลี่ยนท่อในระบบควบคู่ไปกับการเปลี่ยนชุดทำลมอัดต้นกำลัง เพื่อการแก้ไขปัญหาแบบถาวร
  4. พิจารณาเปลี่ยนเครื่องอัดลมเป็นแบบปราศจากน้ำมัน โดยพิจารณาเทคโลโนยีที่ประหยัดทั้งต้นทุนแรกเริ่ม (Initial Costs) และต้นทุนการบำรุงรักษา (PM Costs) อย่างเทคโนโลยี Oil Free Water Injected Screw Air Compressor หรือเครื่องอัดลมแบบใช้น้ำในการช่วยอัดลมในชุดสกรู เพื่อป้องกันปัญหาน้ำมันหลุดออกไปกับลมอัดในระยะยาว
  5. หากยังคงใช้เครื่องอัดลมแบบปราศจากน้ำมันเทคโนโลยีเก่าอย่าง Dry Screw อยู่ และตรวจพบน้ำมันหลุดไปกับลมอัด ให้ตรวจเช็คชุดกสรู (Screw) และห้องเกียร์ (Gear Box) ว่าซีลต่างๆ เสื่อมอายุแล้วหรือยัง หากเสื่อมแล้วให้ทำการเปลี่ยนซีล เปลี่ยน Gear Box หรืออาจต้องเปลี่ยนชุดสกรูทั้งชุดขึ้นอยู่กับคำแนะนำของช่างผู้ชำนาญการ

 

ที่ก้าวหน้าฯ เราคือที่ปรึกษาระบบลมอัดให้คุณแบบครบวงจร

สนใจปรึกษา โทรหาเราได้ที่ 02-1599861 – 4 หรือสายตรงหมายเลข 087-6750-631 หรือผ่านทาง Line@ ที่ @kaowna ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

Top